วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบางแพ

สถานที่ตั้ง
ตั้งอยู่ด้านหลังห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี อ.บางแพ จ.ราชบุรี

ประเภทพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ 

ข้อมูลทั่วไป
พระครูโสภณ  เจ้าคณะอำเภอบางแพ เป็นผู้ริเริ่มในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับบุคคลทั่วไปได้ทราบถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในอำเภอบางแพ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายเชื้อชาติ หลายภาษา หลายวัฒนธรรม นำมาซึ่งเอกลักษณ์ของชาวอำเภอบางแพ แต่อดีตจนถึงปัจจุบันอันทรงคุณค่า เป็นการอนุรักษ์ไว้เพื่อจะได้สืบสานให้คงอยู่ต่อไป

ต่อมาในปี พ.ศ.2549 ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบางแพ ได้รับงบประมาณในการดำเนินโครงการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด และจังหวัดราชบุรี จึงได้ปรับปรุงอาคารเรือนไทยที่อยู่ด้านหลังห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี เพื่อใช้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบางแพ และได้นำสิ่งของต่างๆ ที่ทางวัดบางแพได้เก็บรวบรวมไว้แต่เดิม เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน นำมาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ควบคู่ไปกับห้องสมุดเฉลิมราชกุมารีอีกแห่งหนึ่ง

ข้อมูลบริการ
เวลาทำการ เปิดบริการทุกวัน เวลา 08:00-17:00 น.
ค่าธรรมเนียมการเข้าชม ไม่เสียค่าธรรมเนียม
ติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอบางแพ
โทรศัพท์ 0-3238-1159

ที่มาข้อมูล
พูลศรี จีบแก้ว และปราจิน เครือจันทร์. (2553). ท่องโลกพิพิธภัณฑ์ไทยในราชบุรี. กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส์. (หน้า 18-21)
ที่มาภาพ
-http://www.bangphae.go.th/location-detail.php?id=1

อ่านเพิ่มเติม
23 พิพิธภัณฑ์ในราชบุรี
อ่านต่อ >>

วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม

สถานที่ตั้ง
41/1 หมู่ 3 ต.วังเย็น อ.บางแพ จ.ราชบุรี 70610

ประเภทพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์เอกชน

ข้อมูลทั่วไป
ตั้งอยู่ที่ อ.บางแพ จ.ราชบุรี โดยเกิดขึ้นจากความตั้งใจและความคิดของท่านผู้ก่อตั้งซึ่งมีรากฐานมาจากงานหล่อพระพุทธรูป และประติมากรรมรูปต่างๆ เป็นระยะเวลากว่า 40 ปี จากประสบการณ์ทำให้ผู้ก่อตั้งมีความคิดที่จะสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมรูปเหมือนของพระสงฆ์รูปต่างๆ ซึ่งจำพรรษาในกุฎิ และรูปเหมือนบุคคลสำคัญต่างๆ ที่ท่านผู้ก่อตั้งมีความศรัทธายกย่อง ในด้านแนวความคิด ในการทำงาน และการดำเนินชีวิต จนประสบความสำเร็จ รวมทั้งรูปเหมือนวิถีชีวิตวัฒนธรรม ความเป็นไทยในภาคต่างๆ ของประเทศไทย จึงได้เริ่มก่อตั้งโครงการอุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยามขึ้นมาในปีพุทธศักราช 2540  และด้วยความมุ่งมั่น ความศรัทธาในคำสอนเรื่องทำความดี กำลังใจจากครูอาจารย์ เพื่อนมิตรและครอบครัว ทำให้โครงการหุ่นขี้ผึ้งได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ที่จะนำเสนองานสร้างสรรค์ ด้านศิลปะ วัฒนธรรมไทย วิถีชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมไทย นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพื่อสืบทอดเอกลักษณ์อันดีงาม ของไทยให้คงอยู่สืบต่อชนรุ่นหลัง

ด้านหน้าอุทยานมีองค์พระพิฆเนศหล่อสำริดลงดำ เทพแห่งความรู้ ใกล้ๆ กันมีโมเดลจำลองให้เห็นถึงจุดแสดงแต่ละจุดอย่างคร่าวๆ ก่อนจะไปสัมผัสของจริงภายในพื้นที่ทั้งหมด 42 ไร่ ภายในอุทยานแบ่งพื้นที่จัดแสดงเป็น 6 จุด คือ อาคารเชิดชูเกียรติ ลานพระสามสมัย ถ้ำชาดก กุฏิพระสงฆ์ บ้านไทย 4 ภาค และลานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

1.อาคารเชิดชูเกียรติ นำเสนอเรื่องราวของ 10 บุคคลสำคัญ เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างของอาคารจัดแสดงเรื่องราวรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาสของบุคคลสำคัญทั้งในประเทศไทยและระดับโลก อาทิ ม.ล.ปิ่น มาลากุล พณฯศาสตราจารย์สัญญา  ธรรมศักดิ์ แม่ชีเทเรซ่า ประธานาธิบดีโฮจิมินห์ เหมา เจ๋อ ตุง และเติ้ง เสี่ยว ผิง เป็นต้น

2.ลานพระสามสมัย จัดแสดงพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย พระพุทธรูปศิลปะสมัยอยุธยา และสมัยเชียงแสนหรือสมัยล้านนา

3.ถ้ำชาดก ภายในถ้ำเป็นการแสดงหุ่นที่เล่าเรื่องราวของพระเวสสันดร

4.กุฎิพระสงฆ์ แบ่งออกเป็นกุฎิพระสงฆ์ภาคต่างๆ และภายในกุฏิประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้ง พระอริยสงฆ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีในภาคนั้นๆ ได้แก่ กุฎิพระสงฆ์ภาคกลาง เป็นที่ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และสมเด็จพระอรยวงศาคตญาณ (อยู่ญาโณทัย) กุฎิพระสงฆ์ภาคเหยือ เป็นที่ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้ง ครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย วัดบ้านปาง จ.ลำพูน หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่  กุฎิพระสงฆ์ภาคอีสานเป็นที่ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญบรรพต จ.หนองคาย กุฎิพระสงฆ์ภาคใต้เป็นที่ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้ง พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ (หลวงปู่ทวด วัดช้างไห้) และพระครูวิสัยโสภณ (พระอาจารย์ทิม  ธัมมธโร)

นอกจากนี้ยังมีหอสวดมนต์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งของพระภิกษุสงฆ์ที่มีชื่อเสียงทั้ง 5 ภาคในประเทศไทย จัดแสดงคล้ายกับว่ามาทำการประชุมสงฆ์พร้อมกัน ซึ่งประกอบด้วย
  1. หลวงพ่อเงิน  พุทธโชติ วัดบางคลาน จ.พิจิตร
  2. หลวงพ่อทองคำ วัดบึงบา จ.ปทุมธานี
  3. หลวงปู่สุภา กันตสีโล วัดสิลสุภาราม จ.ภูเก็ต
  4. หลวงปู่ทิม อิสริโก วัดระหารไร่  จ.ระยอง
  5. หลวงปู่คำพัน โฆสปัญโญ วัดธาตุมหาชัย จ.นครพนม
5.บ้านไทยสี่ภาค เป็นการจำลองบ้านไทยตามลักษณะสถาปัตยกรรมที่เด่นชัดจากภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ ภายในบ้านแต่ละหลังจำลองวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยแต่ละภาค ที่สอดคล้องกับสภาพสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

6.ลานพระอวโลกิเตศวร โดยองค์ที่จำลองขึ้นมานี้ เป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือกวนซิอิมผ่อสัก เป็นศิลปะแบบกลาง ปลายสมัยราชวงศ์ซ้องของจีน องค์นี้เป็นพระโพธิสัตว์กวนอิม ท่านั่งมหาราชลีลาลักษณะเป็นบุรุษเพศ ตามประวัติเดิม

ข้อมูลการบริการ
เวลาทำการ เปิดบริการทุกวัน เวลา 08:00-17:00 น.
ค่าธรรมเนียการเข้าชม ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท พระสงฆ์ 20 บาท
โทรศัพท์ 0-3238-1401,0-3238-1402,0-3238-1403
เว็บไซต์ http://www.scppark.com/

ที่มาข้อมูล
พูลศรี จีบแก้ว และปราจิน เครือจันทร์. (2553). ท่องโลกพิพิธภัณฑ์ไทยในราชบุรี. กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส์. (หน้า 18-21)

อ่านเพิ่มเติม
23 พิพิธภัณฑ์ในราชบุรี
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2553

สำนักศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง

สำนักศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง

สถานที่ตั้ง
ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง เลขที่ 46 หมู่ 3 ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี 70150


ประเภทพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ในสถานศึกษา

ข้อมูลทั่วไป
สำนักศิลปวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานหลักอีกหน่วยงายหนึ่ง ตามโครงสร้าวการบริหารมหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง มีหน้าที่ศึกษา ค้นคว้า วิจัย อนุรักษ์ ส่งเสริม พัฒนาและเผยแพร่วัฒนธรรม โดยมีเนื้อหาการจัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตท้องถิ่น ภูมิปัญญา สำนักศิลปะและวัฒนธรรมแต่เดิมมีชื่อว่า "ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม" โดยมีจุดเริ่มจากการประกาศพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู ในปี พ.ศ.2511 ซึ่งได้กำหนดให้วิทยาลัยครูมีบทบาทภาระหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ทางวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ และในปี พ.ศ.2542 ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานของสถาบันราชภัฎหมู่บ้านจอมบึงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จึงเปลี่ยนจาก "ศูนย์" เป็น "สำนัก" คือ สำนักศิลปวัฒนธรรมและเรียกตำแหน่งผู้บริหารในระดับสำนักว่า "ผู้อำนวยการสำนัก" ซึ่งสำนักศิลปะและวัฒนธรรมสถาบันราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง เป็นหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่าคณะวิชา และยังคงทำหน้าที่เป็น "ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี" ตามระเบียบว่าด้วยศูนย์วัฒนธรรม พ.ศ.2531 โดย เป็นประธานศูนย์วัฒนธรรม ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม สถาบันราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง เป็นกรรมการและเลขานุการศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี

ข้อมูลบริการ
เวลาทำการ เปิดบริการวันพุธ-ศุกร์ เวลา 08:30-16:30 น.

ค่าธรรมเนียมเข้าชม
ไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชม

การติดต่อ
โทร.0-3226-1790  ต่อ 1600

ที่มาข้อมูล
พูลศรี จีบแก้ว และปราจิน เครือจันทร์. (2553). ท่องโลกพิพิธภัณฑ์ไทยในราชบุรี. กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส์. (หน้า 16-17)
อ่านเพิ่มเติม
23 พิพิธภัณฑ์ในราชบุรี
เว็บไซต์ : http://culture.mcru.ac.th/ 
อ่านต่อ >>

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโรงเรียนบ้านจอมบึง

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโรงเรียนบ้านจอมบึง

สถานที่ตั้ง
โรงเรียนบ้านจอมบึง (วาปีพร้อมประชาศึกษา) หมู่.3 ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี 70150

ประเภทพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ในสถานศึกษา

ข้อมูลทั่วไป
ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2509 โดยอาจารย์ประสาท  อรรถกรศิริโพธิ์  อดีตครูใหญ่ ซึ่งเป็นผู้เก็บสะสมไว้ที่โรงเรียน ต่อมาในปี พ.ศ.2535-2536 ห้องเรียนไม่พอ จึงนำของทั้งหมดย้ายไปจัดแสดงที่วัดจอมบึง และในปี พ.ศ.2552 ย้ายกลับมาที่โรงเรียนและตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน นิทรรศการถาวร มีการดึงตัวแทนชาวบ้านเข้ามาเป็นกรรมการ เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจริงๆ เผื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร โดยมีอาจารย์สุรินทร์  เหลือลมัย เป็นที่ปรึกษาพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมเก็บรักษาวัตถุโบราณ และจัดแสดงสิ่งของต่างๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วิถีวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี และสมัยรัตนโกสินทร์

ข้อมูลบริการ
เวาทำการ เปิดบริการ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08:30-16:30 น.

ค่าธรรมเนียมเข้าชม ไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชม

การติดต่อ
โทรศัพท์ 08-7508-8773, 0-3221-1151, 0-3236-2036 อ.สุวิมล


ที่มาข้อมูล พูลศรี จีบแก้ว และปราจิน เครือจันทร์. (2553). ท่องโลกพิพิธภัณฑ์ไทยในราชบุรี. กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส์. (หน้า 14-15)
อ่านเพิ่มเติม
23 พิพิธภัณฑ์ในราชบุรี
อ่านต่อ >>

วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรี

ประวัติความเป็นมา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ตั้งอยู่ถนนวรเดช ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี จัดตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2529 โดยกรมศิลปากรได้ขออนุมัติใช้อาคารศาลกลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิม ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2465 ในรัชสมัยพระบามสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้เป็นสถานที่จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ตามโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งชาติประจำเมืองของกรมศิลปากร

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง
เพื่อต้องการให้เป็นศูนย์การศึกษา อนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจทางด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติที่จะสนองความต้องการของประชาชนและชุมชนในพื้นที่จังหวัดราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียงตามแนวทางการพัฒนากิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมัยใหม่ โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการถาวรที่เน้นเรื่องราวของท้องถิ่น ทั้งทางด้านธรณีวิทยา โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมพื้นบ้าน ชาติพันธุ์วิทยา และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดราชบุรี

การจัดแสดง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2534 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ประกอบไปด้วยอาคารสำคัญ 2 หลัง เป็นอาคารจัดแสดงและอาคารส่วนบริการต่างๆ ดังต่อไปนี้

อาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร ได้แก่
อาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิม สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2465 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตก ที่ได้รับความนิยมนำมาสร้างกันอย่างแพร่หลายในช่วงรัชกาลที่ 5-6 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2520 การจัดแสดงนิทรรศการภายในอาคารจะเน้นเรื่องราวของท้องถิ่นตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 5 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

1.สภาพทางภูมิศาสตร์และธรรมชาติวิทยาของจังหวัดราชบุรี จัดแสดงแหล่งกำเนิดทรัพยากรธรรมชาติประเภท ดิน หิน แร่ธาตุและรูปจำลอง ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียง (กาญจนบุรีและเพชรบุรี) โดยมีตัวอย่างของซากดึกดำบรรพ์ ดิน หินแร่ อัญมณี และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีแหล่งกำเนิดในจังหวัดราชบุรีจัดแสดงประกอบ

2.ประวัติศาสตร์และโบราณคดีของราชบุรี จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีที่พบในจังหวัดราชบุรี เรียงตามลำดับยุคสมัย ดังต่อไปนี้

2.1 สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จัดแสดงหลักฐานที่สำคัญทางโบราณคดีของมนุษย์ในยุคที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในบริเวณจังหวัดราชบุรี เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ รวมทั้งเครื่องประดับที่ทำจากหิน โลหะ กระดูกสัตว์ต่างๆ รวมทั้งภาชนะดินเผา กลองมโหระทึก และโครงกระดูกมนุษย์เป็นต้น

2.2 ราชบุรีในวัฒนธรรมทวารวดี จัดแสดงเรื่องราวและหลักฐานต่างๆ ของวัฒนธรรมทวารวดีที่พบในจังหวัดราชบุรี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-15 โดยเฉพาะเรื่องราวของเมืองโบราณคูบัว และเทือกเขางู

2.3 ราชบุรีในวัฒนธรรมเขมร จัดแสดงเรื่องราวและหลักฐานของวัฒนธรรมเขมร หรือ "ลพบุรี" ที่ปรากฏในจังหวัดราชบุรี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-18 โดยมีโบราณวัตถุที่สำคัญภายในห้องจัดแสดงนี้ได้แก่ "พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี" พบที่จอมปราสาทเมืองโบราณโกสินารายณ์ เป็น 1 ใน 5 องค์ที่พบในดินแดนประเทศไทย

2.4 ราชบุรีในสมัยสุโขทัย-ธนบุรี จัดแสดงเรื่องราวของจังหวัดราชบุรีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-28 จากหลักฐานชื่อเมืองราชบุรีที่ปรากฏในศิลจารึกสมันสุโขทัย ราชบุรีเป็นเมืองท่า เมืองหน้าด่าน และเส้นทางการเดินทัพสมัยอยุธยา โดยจัดแสดงหลักฐานด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม เครื่องถ้วยจีน และเครื่องปั้นดินเผา

2.5 ราชบุรีในสมัยรัตนโกสินทร์ จัดแสดงเรื่องราวของจังหวัดราชบุรีในช่วง พ.ศ.2325-2475 แสดงถึงความสำคัญของเมืองราชบุรี ในด้านการเมืองการปกครอง การพัฒนาท้องถิ่น ต่อเนื่องจากสมัยกรุงธนบุรีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (ร.7)

3.เผ่าชนชาติพันธุ์วิทยาของจังหวัดราชบุรี จัดแสดเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ของจังหวัดราชบุรี ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ เป็นลักษณะเด่นของจังหวัด กลุ่มชนเหล่านี้มีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรมและประเพณีที่แต่ละชาติพันธุ์ยังคงยึดถือปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมดั้งเดิม ชาติพันธุ์เหล่านี้ได้แก่ ชาวไทยพื้นถิ่นภาคกลาง ชาวไทยจีน ชาวไทย-ยวน ชาวไทยมอญ ชาวไทยกะเหรี่ยง ชาวไทยลาวโซ่ง ชาวไทยลาวเวียง และชาวไทยเขมรลาวเดิม

4.มรดกดีเด่น แบ่งการจัดแสดงออกเป็นหัวข้อต่างๆ ดังนี้

4.1 มรดกดีเด่นทางวัฒนธรรม เช่น สถานที่สำคัญและแหล่งท่องเที่ยว ปูชนียวัตถุที่สำคัญคู่บ้านคู่เมือง ประเพณีวัฒนธรรม เทศกาลประเพณี อาหารพื้นบ้านและหัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นต้น

4.2 มรดกดีเด่นทางธรรมชาติ ได้แก่ สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญทางธรรมชาติ เช่น อุทยานหินเขางู โป่งยุบ แก่งส้มแมว เป็นต้น  รวมทั้งต้นไม้และพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดราชบุรี

4.3 บุคคลสำคัญ ได้แก่บุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงและทำคุณประโยชน์ให้แก่จังหวัดในด้านต่างๆ เช่น ปูชนียบุคคลที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญทางด้านทหาร การเมืองและการปกครอง รวมทั้งบุคคลสำคัญทางด้านวัฒนธรรมและศิลปินเพลงพื้นบ้านต่างๆ

5.ราชบุรีในปัจจุบัน จัดแสดงสภาพทั่วไปของจังหวัดราชบุรีในปัจจุบันด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการศึกษา การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การอุตสาหกรรม การเกษตร ประชากร และที่สำคัญคือ พระราชกรณียกิจแห่งองค์พระบามสมมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อจังหวัดราชบุรี อาทิเช่น สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม เป็นต้น

อาคารกองบัญชาการรัฐบาลมณฑลราชบุรี
ลักษณะเป็นอาคารที่ได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมตะวันตก เช่นเดียวกับอาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิม มีแผผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอาคารแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ ยกพื้นสูง หลังคามุงกระเบื้องว่าว และด้านหน้าก่อมุขยื่นออกไป สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ.2416 ในรัชสมัยพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เพื่อใช้เป็นจวนที่พักของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยต้นรัชกาลที่ 5

และต่อมาได้ใช้เป็นกองบัญชาการรัฐบาลมณฑลราชบุรีในคราวแรกของการจัดตั้งมณฑลราชบุรี และได้ใช้เป็นสถานที่ทำการต่างๆ ของส่วนราชการอื่นๆ ต่อมาในภายหลัง จนกระทั่งในปี พ.ศ.2539 กรมศิลปากรได้ขออนุญาตใช้อาคารแห่งนี้จากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพื่อปรับปรุงให้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

ปัจจุบันเป็นอาคารส่วนบริการโดยชั้นล่างเป็นพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการหมุนเวียนและกิจกรรมพิเศษต่างๆ ส่วนชั้นบนใช้เป็นสำนักงานและคลังจัดเก็บศิลปะโบราณวัตถุเพื่อการศึกษาของพิพิธภัณฑ์

แผนที่ตั้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

เวลาทำการ : 09:00-16:00 น.
เปิดบริการทุกวันพุธ-วันอาทิตย์
ปิดบริการวันจันทร์-วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์

ค่าธรรมเนียมเข้าชม
ชาวไทย : 20 บาท
ชาวต่างประเทศ : 100 บาท
นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ ภิกษุ สามเณร นักบวชในศาสนาต่างๆ และแขกทางราชการที่ขอเข้าชมเป็นหมู่คณะไม่ต้องเสียค่าเข้าชม

การบริการ
การนำชมเป็นหมู่คณะ การบรรยายทางวิชาการ บริการห้องสมุดสำหรับการศึกษาค้นคว้าและข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี

ร้านจำหน่ายของที่ระลึก
จำหน่ายของที่ระลึกและหนังสือทางด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี
ถนนวรเดช ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี 70000
โทร.0-3232-1513  โทรสาร.0-3232-7235

ที่มา :
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี.(2553). แผ่นพับประชาสัมพันธ์ แจกจ่ายเมื่อ 5 ก.ย.2553
อ่านต่อ >>