วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรี

ประวัติความเป็นมา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ตั้งอยู่ถนนวรเดช ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี จัดตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2529 โดยกรมศิลปากรได้ขออนุมัติใช้อาคารศาลกลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิม ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2465 ในรัชสมัยพระบามสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้เป็นสถานที่จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ตามโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งชาติประจำเมืองของกรมศิลปากร

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง
เพื่อต้องการให้เป็นศูนย์การศึกษา อนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจทางด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติที่จะสนองความต้องการของประชาชนและชุมชนในพื้นที่จังหวัดราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียงตามแนวทางการพัฒนากิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมัยใหม่ โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการถาวรที่เน้นเรื่องราวของท้องถิ่น ทั้งทางด้านธรณีวิทยา โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมพื้นบ้าน ชาติพันธุ์วิทยา และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดราชบุรี

การจัดแสดง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2534 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ประกอบไปด้วยอาคารสำคัญ 2 หลัง เป็นอาคารจัดแสดงและอาคารส่วนบริการต่างๆ ดังต่อไปนี้

อาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร ได้แก่
อาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิม สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2465 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตก ที่ได้รับความนิยมนำมาสร้างกันอย่างแพร่หลายในช่วงรัชกาลที่ 5-6 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2520 การจัดแสดงนิทรรศการภายในอาคารจะเน้นเรื่องราวของท้องถิ่นตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 5 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

1.สภาพทางภูมิศาสตร์และธรรมชาติวิทยาของจังหวัดราชบุรี จัดแสดงแหล่งกำเนิดทรัพยากรธรรมชาติประเภท ดิน หิน แร่ธาตุและรูปจำลอง ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียง (กาญจนบุรีและเพชรบุรี) โดยมีตัวอย่างของซากดึกดำบรรพ์ ดิน หินแร่ อัญมณี และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีแหล่งกำเนิดในจังหวัดราชบุรีจัดแสดงประกอบ

2.ประวัติศาสตร์และโบราณคดีของราชบุรี จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีที่พบในจังหวัดราชบุรี เรียงตามลำดับยุคสมัย ดังต่อไปนี้

2.1 สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จัดแสดงหลักฐานที่สำคัญทางโบราณคดีของมนุษย์ในยุคที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในบริเวณจังหวัดราชบุรี เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ รวมทั้งเครื่องประดับที่ทำจากหิน โลหะ กระดูกสัตว์ต่างๆ รวมทั้งภาชนะดินเผา กลองมโหระทึก และโครงกระดูกมนุษย์เป็นต้น

2.2 ราชบุรีในวัฒนธรรมทวารวดี จัดแสดงเรื่องราวและหลักฐานต่างๆ ของวัฒนธรรมทวารวดีที่พบในจังหวัดราชบุรี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-15 โดยเฉพาะเรื่องราวของเมืองโบราณคูบัว และเทือกเขางู

2.3 ราชบุรีในวัฒนธรรมเขมร จัดแสดงเรื่องราวและหลักฐานของวัฒนธรรมเขมร หรือ "ลพบุรี" ที่ปรากฏในจังหวัดราชบุรี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-18 โดยมีโบราณวัตถุที่สำคัญภายในห้องจัดแสดงนี้ได้แก่ "พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี" พบที่จอมปราสาทเมืองโบราณโกสินารายณ์ เป็น 1 ใน 5 องค์ที่พบในดินแดนประเทศไทย

2.4 ราชบุรีในสมัยสุโขทัย-ธนบุรี จัดแสดงเรื่องราวของจังหวัดราชบุรีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-28 จากหลักฐานชื่อเมืองราชบุรีที่ปรากฏในศิลจารึกสมันสุโขทัย ราชบุรีเป็นเมืองท่า เมืองหน้าด่าน และเส้นทางการเดินทัพสมัยอยุธยา โดยจัดแสดงหลักฐานด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม เครื่องถ้วยจีน และเครื่องปั้นดินเผา

2.5 ราชบุรีในสมัยรัตนโกสินทร์ จัดแสดงเรื่องราวของจังหวัดราชบุรีในช่วง พ.ศ.2325-2475 แสดงถึงความสำคัญของเมืองราชบุรี ในด้านการเมืองการปกครอง การพัฒนาท้องถิ่น ต่อเนื่องจากสมัยกรุงธนบุรีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (ร.7)

3.เผ่าชนชาติพันธุ์วิทยาของจังหวัดราชบุรี จัดแสดเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ของจังหวัดราชบุรี ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ เป็นลักษณะเด่นของจังหวัด กลุ่มชนเหล่านี้มีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรมและประเพณีที่แต่ละชาติพันธุ์ยังคงยึดถือปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมดั้งเดิม ชาติพันธุ์เหล่านี้ได้แก่ ชาวไทยพื้นถิ่นภาคกลาง ชาวไทยจีน ชาวไทย-ยวน ชาวไทยมอญ ชาวไทยกะเหรี่ยง ชาวไทยลาวโซ่ง ชาวไทยลาวเวียง และชาวไทยเขมรลาวเดิม

4.มรดกดีเด่น แบ่งการจัดแสดงออกเป็นหัวข้อต่างๆ ดังนี้

4.1 มรดกดีเด่นทางวัฒนธรรม เช่น สถานที่สำคัญและแหล่งท่องเที่ยว ปูชนียวัตถุที่สำคัญคู่บ้านคู่เมือง ประเพณีวัฒนธรรม เทศกาลประเพณี อาหารพื้นบ้านและหัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นต้น

4.2 มรดกดีเด่นทางธรรมชาติ ได้แก่ สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญทางธรรมชาติ เช่น อุทยานหินเขางู โป่งยุบ แก่งส้มแมว เป็นต้น  รวมทั้งต้นไม้และพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดราชบุรี

4.3 บุคคลสำคัญ ได้แก่บุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงและทำคุณประโยชน์ให้แก่จังหวัดในด้านต่างๆ เช่น ปูชนียบุคคลที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญทางด้านทหาร การเมืองและการปกครอง รวมทั้งบุคคลสำคัญทางด้านวัฒนธรรมและศิลปินเพลงพื้นบ้านต่างๆ

5.ราชบุรีในปัจจุบัน จัดแสดงสภาพทั่วไปของจังหวัดราชบุรีในปัจจุบันด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการศึกษา การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การอุตสาหกรรม การเกษตร ประชากร และที่สำคัญคือ พระราชกรณียกิจแห่งองค์พระบามสมมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อจังหวัดราชบุรี อาทิเช่น สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม เป็นต้น

อาคารกองบัญชาการรัฐบาลมณฑลราชบุรี
ลักษณะเป็นอาคารที่ได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมตะวันตก เช่นเดียวกับอาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิม มีแผผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอาคารแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ ยกพื้นสูง หลังคามุงกระเบื้องว่าว และด้านหน้าก่อมุขยื่นออกไป สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ.2416 ในรัชสมัยพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เพื่อใช้เป็นจวนที่พักของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยต้นรัชกาลที่ 5

และต่อมาได้ใช้เป็นกองบัญชาการรัฐบาลมณฑลราชบุรีในคราวแรกของการจัดตั้งมณฑลราชบุรี และได้ใช้เป็นสถานที่ทำการต่างๆ ของส่วนราชการอื่นๆ ต่อมาในภายหลัง จนกระทั่งในปี พ.ศ.2539 กรมศิลปากรได้ขออนุญาตใช้อาคารแห่งนี้จากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพื่อปรับปรุงให้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

ปัจจุบันเป็นอาคารส่วนบริการโดยชั้นล่างเป็นพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการหมุนเวียนและกิจกรรมพิเศษต่างๆ ส่วนชั้นบนใช้เป็นสำนักงานและคลังจัดเก็บศิลปะโบราณวัตถุเพื่อการศึกษาของพิพิธภัณฑ์

แผนที่ตั้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

เวลาทำการ : 09:00-16:00 น.
เปิดบริการทุกวันพุธ-วันอาทิตย์
ปิดบริการวันจันทร์-วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์

ค่าธรรมเนียมเข้าชม
ชาวไทย : 20 บาท
ชาวต่างประเทศ : 100 บาท
นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ ภิกษุ สามเณร นักบวชในศาสนาต่างๆ และแขกทางราชการที่ขอเข้าชมเป็นหมู่คณะไม่ต้องเสียค่าเข้าชม

การบริการ
การนำชมเป็นหมู่คณะ การบรรยายทางวิชาการ บริการห้องสมุดสำหรับการศึกษาค้นคว้าและข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี

ร้านจำหน่ายของที่ระลึก
จำหน่ายของที่ระลึกและหนังสือทางด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี
ถนนวรเดช ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี 70000
โทร.0-3232-1513  โทรสาร.0-3232-7235

ที่มา :
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี.(2553). แผ่นพับประชาสัมพันธ์ แจกจ่ายเมื่อ 5 ก.ย.2553

ไม่มีความคิดเห็น: